เปรูเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ เขตภูเขาอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด เปรูจึงเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุรายใหญ่ของโลก เช่นทองแดง (อันดับ 3 ของโลก) ตะกั่ว (อันดับ 4 ของโลก) เงิน (อันดับ 1 ของโลก) สังกะสี (อันดับ 3 ของโลก) ดีบุก (อันดับ 3 ของโลก) น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกมีสภาพเอื้ออำนวยต่อการประมง ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด ผลไม้ ต้นโคคา และการปศุสัตว์ นอกจากนี้ ทรัพยากรการท่องเที่ยวของเปรู เช่น มาชูปิกชู เมืองกุสโก และป่าดิบชื้นบริเวณแม่น้ำแอมะซอนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก
เปรูมีรายได้ต่อประชากรปี (พ.ศ. 2549) อยู่ที่ 3,374 ดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 39.3 ของประชากรเป็นคนจน รวมถึงร้อยละ 13.7 ที่อยู่ในระดับจนมาก การบริการมีส่วนร้อยละ 52.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปี พ.ศ. 2550 ตามด้วยอุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิร้อยละ 23.2 อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิร้อยละ 14.2 และภาษีร้อยละ 9.7 สินค้าส่งออกที่สำคัญของเปรู ได้แก่ ทองแดง ทอง สังกะสี ปิโตรเลียม กาแฟ และสิ่งทอ ส่วนการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและสินค้าทุนสำหรับอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าหลักของเปรูได้แก่สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล ชิลี แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โคลอมเบีย และเอกวาดอร์
นโยบายเศรษฐกิจของเปรูมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในช่วงปี พ.ศ. 2511-2518 รัฐบาลควน เบลัสโก อัลบาราโดมีการปฏิรูปหลายอย่างเช่น การปฏิรูปที่ดินทางการเกษตร ยึดบริษัทต่างชาติหลายแห่งมาเป็นของรัฐบาล การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนและการขยายภาครัฐบาล ถึงแม้การปฏิรูปเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะปรับการกระจายรายได้และยุติการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ก็ตาม แต่นโยบายปฏิรูปเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คงอยู่จนปี พ.ศ. 2533 เมื่อรัฐบาลของนายอัลเบร์โต ฟูจิโมริยกเลิกการควบคุมราคา การแทรกแซงทางการค้า การควบคุมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และดำเนินการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ การปฏิรูปเสรีนี้เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจเปรูมีการเติบโตอย่างมั่นคงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ยกเว้นแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540
ในปี พ.ศ. 2550 เปรูมีสภาพเศรษฐกิจดีที่สุดในรอบ 40 ปี และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในทวีป (ประมาณร้อยละ 9.2 ใน พ.ศ. 2550) ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาแร่ธาตุสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศยังเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ความร่ำรวยและความเจริญกลับกระจายไม่ทั่วถึงประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เมืองที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและทางตอนเหนือของประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต เมืองทางตอนใต้แถบเทือกเขาแอนดีสซึ่งส่วนใหญ่ประกอบการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กกลับมีอัตราประชากรยากจนสูงถึงร้อยละ 70
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น